จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

แนวทาง 10 ประการในการชนะความทุกข์

แนวทาง 10 ประการในการชนะความทุกข์ 
1. เวลาพบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ มันชวนให้ท่านโกรธหรือเดือดร้อนใจขึ้นมา จงอย่าพึ่งพูดอะไรออกไป หรือจงอย่าพึ่งทำอะไรลงไปแต่จงคิดให้ได้ก่อนว่า นี่คือสิ่งที่คนทุกคนในโลกนี้ ไม่ปรารถนาจะพบเห็น แต่ทุกคนก็ต้องพบกับมัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ ท่านจะเอาชนะมัน ด้วยการสลัดมันให้หลุดออกไปจากใจก่อน ถ้าท่านสลัดมันออกไปจากใจได้ ท่านก็จะเป็นอิสระ และไม่เป็นทุกข์ เมื่อท่านไม่เป็นทุกข์ เพราะมันก็หมายความว่า ท่านชนะมัน

2. เมื่อคิดได้ดังนั้น จนจิตมองเห็น สภาวะที่ใสสะอาด ในตัวมันเอง จงหวนกลับไปคิดว่า แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? ไม่กี่นาที ท่านก็จะรู้วิธีที่จะแก้ปัญหานั้น อย่างถูกต้องที่สุดและฉลาดเฉียบแหลมที่สุด โดยที่ท่านจะไม่เป็นทุกข์กับเรื่องนั้นเลย

3. เวลาที่พบกับความพลัดพรากสูญเสีย ก็จงหยุดจิตไว้อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และจงยอมรับว่า นี่คือ สภาวะธรรมดา ที่มีอยู่ในโลก มันเป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้มานานแล้ว ท่านจะไปตื่นเต้น เสียอกเสียใจกับมันทำไม มันจะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไป ไม่ต้องตื่นเต้น และจงคิดให้ได้ว่า ในที่สุดแล้วท่านจะต้องพลัดพรากและสูญเสีย แม้กระทั่งชีวิตของท่านเอง วิธีคิดอย่างนี้ จะทำให้ท่านไม่เป็นทุกข์เลย

4. เวลาประสบกับเรื่องที่ไม่ดี จงอย่าคิดว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา? ทำไมเรื่องอย่างนี้จึงต้องเกิดขึ้นกับเรา ? จงอย่าคิดอย่างนั้นเป็นอันขาด เพราะยิ่งคิดเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งจะเป็นทุกข์เท่านั้น ความคิอย่างนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

5. คงคิดอย่างนี้เสมอว่า ไม่เรื่องดีก็เรื่องเลวเท่านั้นแหละที่จะเกิดขึ้นกับเรา ไม่ต้องตื่นเต้นกับมันจงยอมรับมัน กล้าเผชิญหน้ากับมัน และทำจิตให้อยู่เหนือมัน ด้วยการไม่ยึดมั่นในมันและไม่อยากจะให้มันเป็นไปตามใจของท่าน แล้วท่านก็จะไม่เป็นทุกข์

6. ขอเฝ้าสังเกตดูความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าจะไม่สบายใจ จงหยุดคิดเรื่องนั้น ทันทีถ้าสบายใจอยู่ ก็จงเตือนตัวเองว่า อย่าประมาท ระวังสิ่งที่มันจะทำให้เราไม่สบายใจจะเกิดขึ้นกับเรา ให้ท่าน พร้อมรับ เป็นอย่างนี้ด้วยจิตที่เปิดกว้างอยู่เสมอ

7. ถ้าจะเกิดความสงสัยอะไรขึ้น สักอย่างหนึ่ง ก็จงตอบตัวเองว่า อย่าเพิ่งสงสัยมันเลย จงทำจิตใจให้สงบ และเพ่งให้เห็นความสะอาดบริสุทธิ์ ภายในจิตของตัวเอง อย่างชัดเจน และสรุปว่า ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่า การเข้าถึงสภาวะแห่งความสงบ และเป็นอิสระเสรี ภายในจิตของท่านได้

8. ความรู้จักในการรักษาจิตให้ สงบและสะอาด อยู่เสมอ นี่แหละ คือ สติปัญญาความรู้แจ้งธรรม ความเป็นจริง ความทุกข์จะ เกิดขึ้นในใจของท่านไม่ได้เลย

9. จงเข้าสมาธิความสมควรแก่เวลาที่เอื้ออำนวย ไม่ต้องปรารถนาจะเห็น หรือจะได้ จะเป็นอะไรจากการทำสมาธิ และเมื่อ จิตสงบเย็นแล้ว จึงเพ่งพิจารณาชีวิตสิ่งแวดล้อม และปัญหาที่ตัวเองกำลังประสบอยู่แล้ว สรุปว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่ควร ยึดมั่นถือมั่นเลย

10. จงทำกับปัญหาทุกอย่าง ให้ดีที่สุด ใช้ ปัญญา แก้ไขมัน ไม่ต้องวิตกกังวลกับมัน ถึงเวลาแล้ว จงเข้าสู่สมาธิ ได้เวลาแล้ว จงออกมาสู้กับปัญหาอย่างนี้เรื่อยไป และจงปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน แล้วจิตของท่านก็จะบรรลุถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ได้อย่างสมบูรณ์สูงสุดในสักวันหนึ่งซึ่งไม่นานนัก

ที่มา:mthai.com
 — กับ Inthasuwan Ott FC

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ.2556-2558

• ลดขั้นบัญชี "เงินเดือนครู" หวังได้ขั้นสูงสุดภายใน 15 ปีไม่ต้องรอเกษียณ
+โพสต์เมื่อวันที่ : 16 ม.ค. 2556
 
.....
จากการนำเสนอผลการเสวนากลุ่มย่อย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ.2556-2558 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อเร็วๆ นี้

นายดิเรก พรสีมา กรรมการพัฒนาระบบการประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ข้อเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปครู โดยยกฐานะครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น ในส่วนของสถาบันการผลิต ต้องการให้ ศธ. กำหนดโควตาการผลิตให้สอดคล้องกับจำนวนที่หน่วยงานใช้ครูต้องการ โดยเน้นสอนครูจากการปฏิบัติการสอนในห้องเรียนจริง รวมทั้งควรปลูกฝังครูรุ่นใหม่เรียนรู้โครงการพระราชดำริด้วย ในส่วนของผู้ใช้หรือ สพฐ. และโรงเรียน ก็ควรใช้ครูให้ตรงกับสาขาที่จบ ควรมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานครุภัณฑ์ขั้นต่ำของครูแต่ละวิชาเพื่อการสอนที่มีคุณภาพ ทั้งวิชาพลศึกษา ดนตรี การเรือน วิทยาศาสตร์ ด้านเงินเดือนครูนั้น ปัจจุบันบัญชีเงินเดือนครู มีขั้นเงินเดือนย่อยมากถึง 85 ขั้น ควรลดเหลือ25-30 ขั้น เพื่อให้ครูได้รับเงินเดือนขั้นสูงสุดภายใน 15-20 ปี ซึ่งปัจจุบันครูที่ได้รับเงินเดือนขั้นสูงสุด จะได้รับตอนอายุ 59 ปี หรือ 1 ปีก่อนเกษียณ
ด้านนายจุรินทร์ มิลินทสูตร ผอ.วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม นำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาว่า ระดับอุดมศึกษา ที่ประชุมเสนอว่าปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยมากเกินไป ควรมีการควบรวม และผลิตบุคลากรให้ตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการ ด้านอาชีวศึกษา ควรเน้นทวิภาคีให้มากขึ้น และทำความเข้าใจถึงงานสายอาชีพในอนาคตให้เด็กเข้าใจ เช่น ช่างเชื่อม มีบริษัทน้ำมันข้ามชาติต้องการอัตรา และนำไปฝึกเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมท่อส่งน้ำมันในทะเล เงินเดือนกว่า 1 แสนบาท แต่กลับไม่มีผู้เรียนสาขานี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้มีการตั้งองค์กรกลางขึ้นมาถ่วงดุลอำนาจฝ่ายการเมือง เช่น สถาบันการศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการ ก็เปลี่ยนนโยบายทำให้งานไม่ต่อเนื่อง

ที่มา สยามรัฐ

นโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา


จุดเน้นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
ภายใต้การบริหารงาน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
          การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาและการแข่งขันของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันการแข่งขันของประเทศขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของคน มากกว่าจำนวนคนและทรัพยากรเช่นในอดีต ซึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ เกี่ยวข้องกับบุคลากรและผู้เรียนจำนวนหลายล้านคน ประกอบกับผลสรุปของการศึกษาไทยที่ผ่านมา คือ ใช้เวลาเรียนมาก เรียนรู้ได้น้อย มีความเครียด และคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษาต่ำ ดังนั้น การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การบริหารงานของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงเน้นย้ำให้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนแนวทางวิธีการทำงานให้เหมาะสม และต้องมีบทบาทในการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านอื่นด้วย รวมทั้งมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานให้มากขึ้น ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนการทำงานอย่างจริงจัง 

ครูคือใคร.......

ครูคือใคร.......

ใครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้ 
ใช่อยู่ที่ ปริญญา มหาศาล 
ใช่อยู่ที่ เรียกว่า ครูอาจารย์ 
ใช่อยู่นาน สอนนาน ในโรงเรียน

ครูคือผู้ ชี้นำ ทางความคิด
ให้รู้ถูก รู้ผิด คิดอ่านเขียน
ให้รู้ทุกข์ รู้ยาก รู้พากเพียร
ให้รู้เปลี่ยน แปลงสู้ รู้สร้างงาน

ครูคือผู้ ยกระดับ วิญญาณมนุษย์
ให้สูงสุด กว่าสัตว์ เดรัจฉาน
ปลุกสำนึก สั่งสม อุดมการณ์
มีดวงมาน เพื่อมวลชน ใช่ตนเอง

ครูจึงเป็น นักสร้าง ผู้ใหญ่ยิ่ง
สร้างคนจริง สร้างคนกล้า สร้างคนเก่ง
สร้างคนให้ ได้เป็นตัว ของตัวเอง
ขอมอบเพลง นี้มา บูชาครู

...เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์...

โพลวันครู 2556 ระบุ นักเรียนอยากให้ครูมีเวลา ตั้งใจสอน


โพลวันครู 2556 ระบุ นักเรียนอยากให้ครูมีเวลา ตั้งใจสอน

วันครู 2556
สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองทั่วประเทศ จำนวน 2,259 คน (นร. 1,104 คน 48.87% ผู้ปกครอง 1,155 51.13% คน) ระหว่างวันที่ 8-14 มกราคม 2556 สรุปผลดังนี้
“ผู้ปกครอง” มอง “ครู” ณ วันนี้ เป็นอย่างไร?
- เมื่อถามถึง “จุดเด่น/ข้อดี” ของ “ครู” ณ วันนี้
เป็นผู้ให้ความรู้ ให้การอบรมสั่งสอนที่ดีกับเด็ก /ช่วยดูแลเด็กแทนผู้ปกครอง 47.30%
มีทักษะความรู้มากขึ้น สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเรียนการสอน 28.91%
การแต่งกาย บุคลิกภาพดี /เป็นแบบอย่างที่ดี 23.79%
- เมื่อถามถึง “จุดด้อย/ข้อไม่ดี” ของ “ครู” ณ วันนี้
มีเวลาให้กับเด็กน้อย มีงานมาก /ทำให้สอนเด็กหรือดูแลเด็กได้ไม่เต็มที่ 54.24%
การควบคุมอารมณ์ เมื่อโมโหมักจะทำโทษเด็กโดยไม่ฟังเหตุผล 24.53%
ความรัก ความทุ่มเทในวิชาชีพของครูในปัจจุบันมีน้อยลง ไม่เหมือนครูสมัยก่อน 21.23%
- เมื่อถามว่า “ผู้ปกครอง” อยากได้ “ครู” แบบใด? มาสอนลูกหลานของท่าน
เก่ง มีความรู้ความสามารถ มีเทคนิคในการสอนที่ดี สอนเข้าใจง่าย 40.17%
มีเวลาให้กับเด็ก ให้ความรักดูแลเอาใจใส่และเข้าใจเด็ก /เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำที่ดี 31.02%
ใจดี มีกริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย 28.81%
- เมื่อถามถึง สิ่งที่ “ผู้ปกครอง” อยากบอกกับ “ครู” ณ วันนี้ คือ
ครูคือบุคคลสำคัญ เป็นแม่พิมพ์ของชาติ เป็นผู้ที่เสียสละ อดทน 57.51%
อยากให้มีจิตวิญญาณในความเป็นครู เป็นครูที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก 21.65%
อยากขอบคุณ คุณครูทุกท่านที่เสียสละ ดูแลให้ความรักและอบรมสั่งสอนเด็กๆ 20.84%
“นักเรียน” มอง “ครู” ณ วันนี้ เป็นอย่างไร?
- เมื่อถามถึง สิ่งที่ “นักเรียน” “ประทับใจ” “ครู” มากที่สุด คือ
ครูใจดี พูดเพราะ ให้ความรักความห่วงใย 69.36%
ครูจะคอยสอนคอยเตือน ดูแลอบรมให้เป็นคนดี ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือ 20.47%
ได้ทำกิจกรรมร่วมกับครู เช่น เข้าค่าย แข่งกีฬา กีฬาสี ทัศนศึกษา ฯลฯ 10.17%
- เมื่อถามถึง สิ่งที่ “นักเรียน” “อยากลืม” สิ่งที่ “ครู” เคยทำกับเรามากที่สุด คือ
ถูกทำโทษ โดยการดุด่า ว่ากล่าว ตี /ให้การบ้านหรือให้งานมาทำเยอะๆ 70.08%
ไม่ยอมฟังเหตุผล ใช้แต่อารมณ์ ใช้คำพูดรุนแรง ฟังความข้างเดียว 18.55%
ไม่ยุติธรรมในการให้คะแนน/ให้เกรดวิชาเรียน 11.37%
- เมื่อถามว่า “นักเรียน” “ชอบครู” ที่มีลักษณะอย่างไร?
ใจดี รักและเข้าใจเด็ก พูดคุยสนุกสนาน เป็นกันเอง 65.41%
เก่ง มีวิธีการสอนหรือเทคนิคในการสอนที่สนุก เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ 21.83%
มีบุคลิกภาพดี แต่งกายดี มารยาทดี 12.76%
- เมื่อถามว่า “นักเรียน” “ไม่ชอบครู” ที่มีลักษณะอย่างไร?
ดุ โมโหง่าย ใช้ไม้เรียวทำโทษ /มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพกับเด็ก 61.73%
ไม่มีเวลาให้กับเด็ก ขาดสอนบ่อย ไม่สนใจเด็ก ปล่อยปละละเลยเด็ก 19.94%
ไม่รับฟังความคิดเห็นของเด็ก ไม่ยุติธรรม 18.33%
- เมื่อถามถึง สิ่งที่ “นักเรียน” อยากฝากบอก “ครู” ณ วันนี้ คือ
อยากให้ครูเป็นครูที่ดี ใจดี /มีเวลา มีความทุ่มเทตั้งใจสอนเด็กอย่างเต็มที่ 56.94%
หนู /ผมจะเป็นเด็กดี ไม่ทำให้ครูผิดหวัง /รักครู ขอบคุณครูที่ให้การอบรมสั่งสอน 22.17%
อยากให้ครูเข้าใจเด็ก เข้าใจยุคสมัย สังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดกับความคิดแบบเดิมๆ 20.89%
ที่มา : MThai

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ


เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความแปรผันของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ อาจเปรียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีอยู่ ๒ แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดังนี้

ความพอเพียงในระดับบุคคลและระดับครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่นๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชน ราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม

ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒ เป็นเรื่องของการสับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปแบบกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่างๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ชุมชนโดยรวม หรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้นๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง

ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓ ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่ที่ประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง กลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลักไม่เบียดเบียนแบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด
การปฏิบัติตน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพ อย่างจริงจัง ดังกระแสพระราชดำรัส ความว่า
 “… ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ่มเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง…”

. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังกระแสพระราชดำรัส ความว่า
“… ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ…”

. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ และแข่งขันกันในทางการค้าขาย ประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงดังอดีต ดังกระแสพระราชดำรัสในเรื่องนี้ความว่า
 “… ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น…”

. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากครั้งนี้ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ให้ความหมายชัดเจนว่า
“… การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้ เพื่อตนเองเพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้าที่มีความสุข พอมีพอกินเป็นขั้นหนึ่งและขั้นต่อไปก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตัวเอง…”

. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่วให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ด้วยสังคมไทยที่ล่มสลายลงในครั้งนี้เพราะยังมีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากละอายแผ่นดิน ดังกระแสพระราชดำรัส ความว่า
“… พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัวทำลายผู้อื่น พยายามลด พยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้น ให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น…”