จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อัตลักษณ์ เอกลักษณ์กับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม




สมศ. ได้ประกาศเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม(พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๘)ซึ่งประกอบด้วยตัวบ่งชี้พื้นฐาน ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ ตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม เพื่อให้สถานศึกษามีความเข้าใจความหมายและการเก็บรวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามดังนั้น จึงขอให้ความเข้าใจเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

อัตลักษณ์   (
Identity)  
หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นกับ ผู้เรียนตามปรัชญา ปณิธานวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด อัตลักษณ์ เป็นตัวบ่งชี้ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประเมินในสองรอบที่ผ่านมาที่ได้มีการตรวจสอบปรัชญาปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจของสถานศึกษา ว่ามีการกำหนดไว้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติทุกสถานศึกษาจะต้องกำหนดไว้ตั้งแต่เมื่อก่อตั้งสถานศึกษา ส่วนการประเมินภายนอกรอบสามจะประเมินผลว่าตัวผู้เรียนว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตามสาระที่กำหนดไว้ในปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจหรือไม่ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าสถานศึกษากำหนดปรัชญาไว้ว่า "ความรู้คู่คุณธรรม" นักเรียนหรือบัณฑิตที่จบมาต้องมีความรู้ เป็นคนดีมีจิตสาธารณะ หรือสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษากำหนดปรัชญาไว้ว่า "อดทน มุ่งมั่น สู้งาน" แล้วผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาแล้วมีลักษณะอดทนตั้งใจ มุ่งมั่น และสู้งาน ก็ถือว่าบรรลุอัตลักษณ์โดยจะนำผลมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์การให้คะแนนของแต่ละระดับการศึกษาต่อไป ในการเก็บข้อมูลเรื่องอัตลักษณ์นั้น
สถานศึกษาจะต้องกำหนดเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อใช้ประเมินผลความเป็นอัตลักษณ์ของสถานศึกษาโดยอาจจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมภายในสถานศึกษา หรือทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากบุคลากรภายใน ต่อคุณลักษณะของผู้เรียนที่สะท้อนปรัชญา ปณิธานวิสัยทัศน์ พันธกิจที่กำหนดหรือไม่ และให้ระดับคะแนนตามระดับผลกระทบที่ดีต่อชุมชนท้องถิ่น และระดับการยอมรับจากชุมชนหรือหน่วยงานภายนอก ผลที่ได้จากการดำเนินการจะส่งผลดีให้สถานศึกษาได้ทบทวน พิจารณาและดำเนินการต่อไปอย่างมีเป้าหมายชัดเจน สำหรับระดับอุดมศึกษาสถาบันและคณะจะต้องกำหนดอัตลักษณ์เป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า"หนึ่งสถานศึกษา หนึ่งอัตลักษณ์"

ส่วน 
เอกลักษณ์ (
Uniqueness)



หมายถึง ความสำเร็จตามจุดเน้นและจุดเด่นที่สะท้อนให้เห็นเป็นลักษณะโดดเด่นเป็นหนึ่งของสถานศึกษาหรือความสำเร็จของสถาบัน ดังนั้น อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ จึงไม่เหมือนกัน แต่สำหรับระดับอุดมศึกษาเอกลักษณ์ กับอัตลักษณ์ของสถาบันกับคณะ จะเหมือนกันหรือต่างกัน หรือส่งผลถึงกันก็ได้ ยกตัวอย่าง เอกลักษณ์ของคณะต่างๆในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันแต่เอกลักษณ์ในภาพรวมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะต้องเหมือนกัน

กล่าวได้ว่า ทั้งอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ ถือเป็นตัวช่วยในการประเมินรอบสามนี้ และเปิดโอกาสให้สถานศึกษาได้ชูจุดเด่นหรือจุดต่างของสถานศึกษาให้คนทั่วไปได้รับทราบและรู้จักตัวตนของสถานศึกษามากขึ้น


ท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง

www.facebook.com/pageonesqa

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

ชั้น 24 อาคารพญาไทพลาซ่า เลขที่ 128 ถนนพญาไท 

แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 0-2216-3955โทรสาร 0-2216-5044-6 

http://www.onesqa.or.th 

ที่มา:

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: